ETDA (เอ็ตด้า) เปิดบ้านเสวนารับศักราชใหม่ เดินหน้ายกระดับการจัดเก็บและตรวจวิเคราะห์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Forensics)
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันกิจกรรมหลายอย่างทำผ่านช่องทางที่เป็นดิจิทัล โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟน กลายเป็นอุปกรณ์ติดตัวของคนไทยในยุคนี้ ทุกอย่างทำผ่านมือถือมากขึ้น เช่น ธุรกรรมการเงินหรือธุรกรรมอื่นๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การเจรจาการค้าผ่านทางอีเมล ฯลฯ ซึ่งอาชญากรรมต่างๆ มากมายก็อาศัยช่องทางเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เมื่อเกิดอาชญากรรมผ่านช่องทางดังกล่าว หรือมีเรื่องของเครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีแล้ว การรวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์พยานหลักฐานต่างๆ ที่เป็นดิจิทัลก็มีความแตกต่างจากการทำงานกับวัตถุพยานทั่วไป โดยมีความเปราะบางสูงและถูกปลอมแปลงง่าย ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวม จัดเก็บและวิเคราะห์พยานหลักฐานเหล่านี้จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในคุณลักษณะและข้อจำกัดของหลักฐานดิจิทัลแต่ละประเภท ตลอดจนกรรมวิธีในการเข้าถึง กู้คืน จัดเก็บ วิเคราะห์และจัดทำรายงาน ซึ่งต้องทำตามขั้นตอนที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับในทางปฏิบัติตามมาตรฐานสากล หลักฐานนั้นจึงจะสามารถนำไปใช้ในชั้นศาลได้
เนื่องจากปัจจุบัน มีคดีความที่จำเป็นต้องอาศัยพยานหลักฐานดิจิทัลมากขึ้นเรื่อย ๆ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดย ICT Law Center ร่วมกับศูนย์ดิจิทัลฟอเรนสิกส์ ETDA จึงจัดเวที Open Forum ในหัวข้อ “มาตรฐานและแนวปฏิบัติพื้นฐาน: การจัดเก็บและตรวจวิเคราะห์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกระบวนยุติธรรมไทย (Fundamental standards and practices: Electronic data collection and analysis for judicial process)” ประเดิมศักราชใหม่ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา
วิทยากรที่ร่วมพูดคุยครั้งนี้ ได้แก่ พ.ต.ท.สุพจน์ นาคเงินทอง ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายการสอบสวน 2 สำนักงานการสอบสวน พ.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บังคับการกองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี กลุ่มงานตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผศ. สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ท. ดร. กิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ ร.น. ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ กองทัพเรือ ธงชัย แสงศิริ รองผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงปลอดภัย ETDA โดยมี ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอาวุโสบริษัท G-Able เป็นผู้ดำเนินรายการ
บรรยาการภายในงาน ได้รับการตอบรับจากประชาชนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างล้นหลาม เสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายยินดีที่จะมีคู่มือปฏิบัติงานด้านนี้ของไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนางานด้านดิจิทัลฟอเรนสิกส์เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย ตลอดจนมีความเห็นสอดคล้องกันในห้องเสวนาว่า พยานหลักฐานดิจิทัลสำคัญและแยกออกจากนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้