โหมโรง เดอะมิวสิคัล "ไร้ราก ไร้แผ่นดิน"
ละครเวทีที่จะพาไปสัมผัสถึง "ราก" ของความเป็นไทย ผ่านชีวิตคนระนาด "เจ้าศร" เด็กน้อยผู้หลงไหลในเสียงดนตรี สุู่ "นายศร" มือระนาดหนุ่มชื่อก้องแห่งอัมพวา สู่ "ท่านครู" ผู้อุทิศบั้นปลายชีวิตปกป้องและส่งผ่านความงดงามของท่วงทำนองดนตรีไปยังลูกหลาน ที่ผ่านทั้งยุคทองรุ่งเรืองสูงสุดและยุคตกต่ำที่สุดของวงการดนตรีไทย ด้วยเรื่องราวที่เข้มข้น พร้อมการขับกล่อมด้วยเสียงเพลงที่ไพเราะงดงาม ตื่นตาไปกับการประชัน "ระนาดเอก"กันสดๆบนเวที ที่จะสร้างความอัศจรรย์ใจและความภาคภูมิใจในรากเหง้าที่งดงามของความเป็นไทย ให้กับคนไทยทุกคน ด้วยแรงบันดาลใจจากชีวิตของ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ... “โหมโรง เดอะมิวสิคัล" เล่าเรื่องราวผ่าน 2 ยุคสมัย คือ ยุคนายศร (ยุครัชกาลที่ 5) และยุคท่านครู (ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม) เรื่องราวจะตัดสลับกันไปมา ในยุครัชกาลที่5 - เล่าเส้นทางของนักระนาดเอก "นายศร" ตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม เติบโตมาจากครอบครัวนักดนตรี รักในเสียงดนตรีและมีพรสวรรค์ด้านนี้ตั้งแต่ยังเล็ก ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพื่อจะได้เรียนดนตรีสมดังตั้งใจ มีช่วงวัยที่คึกคะนอง คิดว่าต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องแข่งขัน ต้องเอาชนะ หลงตัวเองว่าเก่งกล้าสามารถเหนือใคร จนได้มาเจอกับ "ขุนอิน" และพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก ความพ่ายแพ้ เป็นบทเรียนที่ทำให้ศรได้คิด ทบทวนตัวเอง และสามารถค้นพบแนวทางระนาดของตัวเอง "ระนาดสะบัดไหว" ได้เข้ามาเป็นนักระนาดของสมเด็จฯ ประชันระนาดกับขุนอินอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ศรได้เข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่การประชันเพื่อทำลาย หรือเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นการประชัน เพื่อทำลายความกลัว กรอบกำแพงในจิตใจที่สร้างขึ้น และชนะใจตนเอง ...เอาชนะคนอื่นได้ ก็ย่อมมีวันพ่ายแพ้คนอื่นได้ แต่ถ้าชนะใจตัวเองได้นั้น เราจะไม่แพ้ใครอีกเลย... ในยุคจอมพล ป. - เล่าภาวะการต่อสู้ของดนตรีไทย ท่ามกลางสงคราม และกฎข้อห้ามเล่นดนตรีไทย กฎที่ออกโดยคนที่ไม่เข้าใจดนตรี "ท่านครู" (ศร) และลูกศิษย์ลูกหา บรรดานักดนตรีไทย ต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงประเทศ ตามนโยบายของท่านผู้นำ เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากสงคราม จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนประเทศให้ศิวิไลซ์ มีอารยะ อาทิ ห้ามกินหมาก ต้องสวมหมวก กล่าวคำว่าสวัสดี ห้ามเล่นดนตรีไทยบางชนิด จะเล่นดนตรีได้ต้องมีบัตรนักดนตรี ห้ามนั่งเล่นกับพื้นหรือเล่นดนตรีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลป์ เป็นต้น กฎที่ออกโดยคนที่ไม่เข้าใจดนตรีเหล่านี้ ทำให้นักดนตรีไทยเดือดร้อน ไม่มีงานจ้าง ไม่มีเงิน และต้องแยกย้ายกันไปทำอาชีพอื่น เลวร้ายที่สุดถึงกับฆ่าตัวตาย ถือเป็นช่วงสมัยที่ต้องต่อสู้กันระหว่าง "สิ่งเก่า" กับ "สิ่งใหม่" ซึ่งท่านครูก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราสามารถพัฒนาได้โดยไม่ต้องทำลายราก หรือสิ่งดีงามที่มีอยู่แต่เดิม (มีฉากที่ลูกชายท่านครู ซื้อเปียโนมาไว้ที่บ้าน ท่านครูก็สามารถเล่นระนาดสอดประสานกับเปียโน ได้อย่างงดงาม) ดนตรีไทย คือเอกลักษณ์ คือรากเหง้าที่งดงามของความเป็นไทย สงครามอาจทำให้บ้านเมืองชำรุดเสียหาย แต่คนที่ไม่รู้ค่าของความเป็นไทย จะทำลายคนไทยด้วยกันเอง ... ชาติจะพัฒนาไปสู่อารยะได้อย่างไร หากเอกลักษณ์ รากความเป็นไทย ถูกทำลายหมดสิ้น .. ...ไร้ราก ไร้แผ่นดิน...เมษายน นี้ ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น7 สยามสแควร์วัน | |
นำแสดงโดย | ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง สุประวัติ ปัทมสูต อาร์ม กรกันต์ สุทธิโกเศศ โย่ง อาร์มแชร์ ป๋อม บอยไทย (ชัยยุทธ โตสง่า) แนน สาธิดา พรหมพิริยะ |
ร่วมด้วย | ครูรัก ศรัทธา ศรัทธาทิพย์, เอ๋ เชิญยิ้ม, ปอ af7, นาย The Comedian, ดวงใจ หทัยกาญจน์, ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ตั้ว ประดิษฐ ประสาททอง และนักแสดง นักดนตรีไทย อีกคับคั่ง |
ดัดแปลงบท | จากบทประพันธ์ของ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ |
กำกับการแสดง | ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม ร่วมกับ ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ |
จัดแสดง | 15 รอบ วันที่ 4-5, 23-26, 30 เมษายน 2558 และ 1-3, พฤษภาคม 2558 ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook ซื้อบัตรได้ที่ Thaiticketmajor |